เทศบาลตำบลห้วยขะยุง

Huaikhayung Subdistrict Municipality

ประวัติความเป็นมา


ออนไลน์ : 20

หัวข้อ :: ประวัติความเป็นมา

ประวัติบ้านห้วยขะยุง


 
​ ชุมชนบ้านห้วยขะยุง ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำห้วยขะยุงด้านขวามือห่างจากจุดบรรจบกันระหว่างลำน้ำห้วยขะยุงและแม่น้ำมูล ประมาณ 1 กม. เป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันของประชาชนจากหมู่บ้านต่างๆ หลายหมู่บ้านที่อพยพเคลื่อนยายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อาศัย เพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมและการใช้สอยปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่หมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง เช่นที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ของตำบลกุดลาด ลำน้ำห้วยขะยุง ลำน้ำมูล โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านเพื่อเดินทางเข้าสู่ตัวจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดต่างๆ สู่กรุงเทพฯ ในเบื้องต้นสืบได้ว่าประมาณปี พ.ศ.2470 รัฐบาลได้ก่อสร้างทางรถไฟจากจังหวัดศรีสะเกษไปจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีคนงานก่อสร้างทางรถไฟ อพยพเคลื่อนย้ายรับจางก่อสร้างติดตามมาด้วย มีครอบครัวชาวจีน นำโดย นายซ่งฮะ – นางธูปหอม มูลศิลป์ นายสิ่ว โสวรรณะ จากบ้านกุดลาด ตำบลกุดลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยคณะซึ่งเดินทางมาเป็นระลอก เช่นในปี พ.ศ.2473 นางเฮือง สีลา ซึ่งเดินทางมาจากบานแง ตำบลแวง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ พ่อครูพร บัวงาม จากบ้านหนองแก้ว ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรามย์ จังหวัดศรีสะเกษ พ่อใหญ่ศูนย์ (สูรย์) ไกรสีห์ จากบ้านท่าลาด ตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พ่อใหญ่ป่าว ซึ่งมีเชื้อชาติพม่า และแม่ใหญ่เพิ่มที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร พร้อมกับคณะช่างที่ทำการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ กับสถานีบ้านโพธิ์มูล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2475 ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการนทำไร่ ทำนา และหาสัตว์น้ำเลี้ยงชีวิต พร้อมกับตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านห้วยขะยุง ตามชื่อของลำห้วย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของลำน้ำสายต่างๆ ที่ไหลจากเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

เนื่องจากบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมีพื้นที่เป็นที่ว่างเปล่าสามารถขยายกิจการทำไร่นาได้กว้างขวาง มีทางคมนาคมสะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก สามารถเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอุบลราชธานีด้วยทางน้ำโดยอาศัยลำน้ำมูลได้ด้วย จึงได้มีผู้คนอพยพมาจากท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบอาชีพ ณ บริเวณแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยมา กลายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต่อมาได้มีกลุ่ม พ่อค้านำโดยหลวงภิรมย์ได้มาตั้งโรงสีใหญ่ขึ้น พร้อมกับนายเปี้ยน สุวรรณมาศ ที่บริเวณริมลำห้วย ด้านซ้ายมือทางรถไฟ (เดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ) ต่อมาหลวงภิรมย์ได้ขายกิจการให้นายเปี้ยน สุวรรณมาศ หลังจากนั้น ได้ย้ายโรงสีมาตั้งใหม่ที่อีกฝากหนึ่งของทางรถไฟจนถึงปัจจุบันในช่วงระยะนั้นมีกลุ่มพ่อค้าที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งนำโดย นายพิชัย สุวรรณมาศ บุตรชายนายเปี้ยน สุวรรณมาศ พ่อค้าจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาดำเนินกิจการโรงสีไฟและโรงเลื่อย ประมาณปี พ.ศ.2480 ชื่อว่า บริษัทโรงสีห้วยขะยุง หรือโรงสีไฟง่วนเชียงเส็ง ทำการรับซื้อข้าวเปลือกจากประชาชนในท้องถิ่นใกล้เคียง สีเป็นข้าวสาร บรรจุกระสอบส่งโดยทางรถไฟไปจำหน่ายยังกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆขณะเดียวกัน กิจการโรงเลื่อยจักรก็รับซื้อไม ซึ่งขณะนั้นมีความสมบูรณ์มากลำเลียงผ่านลำน้ำห้วยขะยุงและลำน้ำมูล มาทำแปรรูปส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆผ่านทางรถไฟ จากกิจการโรงสีและโรงเลื่อยนี้เองเป็นเหตุให้มีการอพยพของผู้คนมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้าน ห้วยขะยุงมากขึ้น ทำให้หมู่บ้านห้วยขะยุงเป็นหมู่บ้านที่มีการซื้อขายข้าว ที่ใหญ่มากและขณะเดียวกันก็เป็นตลาดรับซื้อของป่า ทุกชนิด เกิดอาชีพใหม่ คือ อาชีพรับจ้าง ทำงานโดยใช้แรงงานในโรงสีและโรงเลื่อย ตลอดจนสถานที่รับซื้อของป่าเหล่านั้นด้วย ผู้คนที่อพยพมาสู่บานห้วยขะยุงระยะหลังนี้อพยพมาจากหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านน้ำเที่ยง บ้านหนองบัว บ้านหนองหวาย บ้านท่าลาดและจากจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา โดยเฉพาะเชื้อสายจีนได้อพยพมาโดยทางรถไฟ ซึ่งจะประกอบอาชีพรับจ้างใช้แรงงานในโรงเลื่อยจักร โรงสีไฟ โรงานอัดปอ ซึ่งมีจำนวน 5 โรงงานและค้าขาย รับซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผลผลิตของท้องถิ่น เช่น ข้าว ปอ สัตว์เลี้ยง ของป่า นำส่งขายต่อที่โรงสี ตลาดในตัวจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษและจังหวัดต่างๆ ตามเส้นทางคมนาคม การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าทำให้ตลาดห้วยขะยุงคึกคัก มีการซื้อขายด้วยมิตรไมตรีมีผู้คนมากหน้าหลายตาจากท้องถิ่นต่างๆ นำสินค้าทุกเกวียน เรือ บ้างก็หาบหามมาจำหน่ายเป็นประจำทุกวัน ทำให้สภาพการเงินหมุนเวียนคล่องตัว นำรายได้สู่ท้องถิ่นจนสามารถจัดตั้งเป็นสุขาภิบาล ตามระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ก่อนท้องถิ่นอื่นๆ ในอำเภอวารินชำราบและจังหวัดอุบลราชธานี กลายเป็นเทศบาลตำบลห้วยขะยุงในปัจจุบัน จากการพัฒนาการของหมู่บ้านห้วยขะยุงที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นหลังจากที่มีกฎหมายระเบียบลักษณะการปกครองท้องถิ่น ประกาศใช้ในเบื้องต้น บ้านห้วยขะยุงซึ่งเป็นหมู่ที่ 9 ของตำบลท่าลาด ได้ขยายหมู่บ้านเคลื่อนย้ายผู้คนตั้งเป็นหมู่ที่ 10 โดยใชที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ร่วมกับผู้คนที่ย้ายมาจากท้องถิ่นต่างๆ การพัฒนาการของหมู่บ้านสามารถแยกการปกครองออกได้หลายหมู่บ้านในเวลาต่อมา มีการร่วมกันจัดสร้างสาธารณสถาน และสาธารณูปโภค เพื่อใช้สอยและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกัน เช่น วัด ศาลเจ้า โรงเรียน ตัดถนนและจัดผังหมู่บ้าน ระยะที่มีการพัฒนาอย่างเด่นชัดเป็นห้วงระยะเวลาที่มี นายเกียรติ์ เกียรติธนะกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายโชติ เชื้อศรีแก้ว เป็นนายอำเภอวารินชำราบ ประมาณปี พ.ศ.2491 ถึง 2499 มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย นายสอน ไพกะเพศ นายชาลี ศิริมูล พระครูวิศาลธรรมรัต หลวงปู่ทาวัดธรรมิการาม ผู้ใหญ่บ้านสวง โสวรรณะ พ่อใหญ่พรม สาลีพวง พ่อใหญ่เสี่ยน (จันทร์ โสวรรณะ) พ่อใหญ่ที โสวรรณะ พ่อใหญ่พรม สาลีพวง นายวัฒนา ใจว่อง นายปิยะ สมโสภา และกลุ่มพ่อค้า ซึ่งประกอบด้วย นายไทร พุ่มชุมพล นายเกรียงศักดิ์ สงวนตระกูล นายวิจิตร ศรีสว่าง นายเกียรติ สวัสดิ์ตระกูล ทำการจัดหาวัสดุและก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษา วัด สถานีอนามัย ไฟฟ้า ถนน จัดผังหมู่บ้าน จัดการสุขาภิบาล การปกครองและสาธารณูปการต่างๆ เช่น
1.โรงเรียนประถมศึกษาหรือโรงเรียนวัดบ้านห้วยขะยุง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2480 อาศัยศาลาวัดบานห้วยขะยุงเปิดทำการสอนเรื่อยมา โดยมีนายพิมพ์ จันพวง เป็นครูใหญ่ คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นว่า น่าจะมีที่ดินและอาคารเรียนเป็นเอกเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายเกียรติ เกียรติธนะกุล ได้จัดสรรเงินงบประมาณปี พ.ศ.2499 จำนวน 20,000 บาท เพื่อทำการ ก่อสร้าง ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอ คณะครูในโรงเรียนโดยการนำของครูใหญ่บุญมี สีสากับชาวบ้านได้ร่วมกับบริจาคเงินสมทบการก่อสร้างได้จำนวน 12,490 บาท พร้อมกันนั้นนายเกรียงศักดิ์ สงวนตระกูล นายไทร พุ่มชุมพล ได้รวบรวมเงินบริจาคในนามของคณะพ่อค้าได้จำนวน 30,000 บาท สมทบเพื่อทำการก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินสาธารณะ จึงก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินสาธารณะ จึงก่อสร้างอาคารเรียนได้แล้วเสร็จ โดยอาศัยแรงงานจากชาวบ้านร่วมด้วย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2499 และเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนวัดบ้านห้วยขะยุง เป็นโรงเรียนบ้านห้วยขะยุงคุรุพานิชวิทยาคาร เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์ของความร่วมมือร่วมใจกัน

2.โรงเรียนห้วยขะยุงวิทยา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ตามความประสงค์ของประชาชนในท้องถิ่นตำบลท่าลาด ได้ร้องขอต่อทางราชการให้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลขึ้นที่บ้านห้วยขะยุง กรมสามัญศึกษาเห็นชอบในหลักการประชาชนจึงพร้อมใจกันบริจาคที่ดิน จำนวน 61 ไร่ งาน 51 ตารางวา และทรัพย์สินให้เป็นที่สร้างโรงเรียน ประกอบด้วย นายแสวง สว่างวงศ์ นายสิทธิ์ หิปนัติ นายแหยม มีศรี นายกุล นัยนิจ นายผ่อง ทีคะสาย นายผึ้ง ชวนลัก นางอั่งเฮียง สุวรรณมาศ บริจาคเงินจำนวน 25,000 บาท ประชาชนร่วมกันบริจาค ได้เงินจำนวน 20,000 บาท คณะกรรมการการศึกษา จัดงานหาเงินสมทบได้ 42,000 บาท รวมทั้งหมด 87,000 บาท สมทบสร้างอาคารเรียน โรงเรียนเริ่มเปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2519 ระยะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคาร โรงเรียนอาศัยศาลาวัดธรรมิการาม เป็นที่ทำการชั่วคราว ตลอดปีการศึกษา 2519 ได้ย้ายมาทำการเรียนการสอน ณ สถานที่ก่อสร้างใหม่ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2520 ปีการศึกษา 2520 โรงเรียนห้วยขะยุงวิทยา ได้พัฒนาเจริญเติมโตเป็นลำดับ ด้วยความร่วมมือเสียสละของประชาชนตำบลท่าลาด และตำบลห้วยขะยุงโดยเฉพาะชาวบ้านห้วยขะยุงทุกกลุ่ม ซึ่งมีความสามัคคี เสียสละกำลังทรัพย์ กำลังกาย ตลอดจนสติปัญญาช่วยกันพัฒนาเรื่อยมา ปัจจุบันมีอาคารเรียน อาคารประกอบอันเหมาะสมกับความจำเป็นแก่การจัดการเรียนการสอน เปิดทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในปีการศึกษา 2545 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 660 คน ครู 29 คน นักการภารโรง 2 คน ขณะนี้มีโรงเรียนยังต้องการการสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนอีกเป็นจำนวนมาก

3.วัด การก่อตั้งวัดในเบื้องต้นในปี พ.ศ.2476 ชาวบ้านซึ่งประกอบไปด้วย นายเชิด นายพร บัวงาม นายสิ่ว โวรรณะ นายจัน โสวรรณะ นายเฮือง สีลา ได้ร่วมกันก่อสร้างมีภิกษุจำพรรษาเป็นครั้งคราว ต่อมาได้รับการบริจาคที่ดินจากนายเปงเกียว แซ่ตั้ง ชาวอำเภอหินดาษ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนายไทร พุ่มชุมพล เป็นผู้ประสานงาน หลังจากนั้นชาวบ้านโดยการนำของคณะกรรมการได้รับศรัทธาจากคุณยายธูปหอม มูลศิลป์ และคุณยายมุ้ย พุ่มชุมพล บริจาคเงินท่าน 12 บาท รวมเงินได้ 24 บาท จัดซื้อบ้านเก่าจากหมู่บ้านหนองหวายเพื่อเป็นวัสดุในการจัดสร้างกุฏิ คณะกรรมการและชาวบ้านได้ร่วมกันรื้อถอนขนย้ายบ้านหลังนั้นมาจัดสร้างเป็นกุฏิหลังแรกในบริเวณที่ดินที่ได้รับมอบ และไดมีการปรับปรุงก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา

4.สถานีอนามัย โดยความคิดของผู้ว่าราชการจังหวัด นายเกียรติ เกียรติธนะกุล ต้องการให้มีสถานีอนามัยเกิดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือประชาชนยามเจ็บป่วย และดูแลการสุขาภิบาลในหมู่บ้าน จึงจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้าง คณะกรรมการได้ร่วมกัน ขอรับบริจาคที่ดินจากนายไทร พุ่มชุมพล และร่วมกันก่อสร้างสถานีอนามัยจนแล้วเสร็จใช้ประโยชน์ ต่อมาปัจจุบันสถานีอนามัย ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารและได้ย้ายไปทำการ ณ สถานีแห่งใหม่แล้ว

5.การไฟฟ้า ปี พ.ศ.2489 ด้วยการประสานงานของผู้ว่าราชการจังหวัด นายเกียรติ เกียรติธนะกุล ขอใช้บริการจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย จึงได้รับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาติดตั้งที่บ้านห้วยขะยุง โดยความร่วมมือร่วมใจจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว

6.ตลาดสด ในปี พ.ศ. 2498 นางโบ๊ยตัว แซ่ลิ้ม มารดาของนางนี วัชรปรีชาวงศ์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 2 ไร่ 14 ตารางวา เพื่อจัดสร้างตลาดสด พร้อมกันนั้นได้รับบริจาคบ้านเก่า 1 หลัง จากประชาชนเพื่อทำการก่อสร้างโรงเรือนตลาดสด ทั้งที่ดินและโรงเรือนมีมูลค่า 17,000 บาท

7.ถนนภายในหมู่บ้าน นับเป็นกระบวนการพัฒนาเบื้องต้นนำสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนห้วยขะยุง โดยการนำของผู้นำกลุ่มต่างๆ ได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดทำถนนเพื่อการคมนาคมสื่อสารติดต่อกันได้สะดวก จึงเกิดถนนสายต่างๆขึ้น และเพื่อเป็นอนุสรณ์ของคุณงามความดี จึงให้ชื่อถนนตามคุณลักษณะและสัญลักษณ์ของผู้ที่เป็นหัวหน้าทำการก่อสร้างนั้นๆ
     7.1 ถนนศรีอารยะ ผู้นำในการก่อสร้างถนนสายนี้ คือท่านพระครูวิศาลธรรมรัต ได้นำชาวบ้านก่อสร้างเป็นถนนจนแล้วเสร็จ
     7.2 ถนนพานิชบำรุง กลุ่มพ่อค้าบ้านห้วยขะยุงร่วมในกันสละแรงงานและทรัพย์สินทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
     7.3 ถนนห้วยขะยุงสามัคคีเป็นอนุสรณ์ของความสามัคคีภายในหมู่บ้าน โดยเกิดจากความสามัคคีของประชาชนในหมู่บ้านห้วยขะยุง
     7.4 ถนนธนกิจ เป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชน เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด    นายเกียรติ เกียรติธนะกุล
     7.5 ถนนโชควัฒนะ เป็นความร่วมมือร่วมใจกันของประชาชน เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติของท่านนายอำเภอโชติ เชื้อศรีแก้ว
     7.6 ถนนไชยชุมพล เป็นการบริจาคที่ดินและจัดทำการก่อสร้างโดย นายไทร พุ่มชุมพล
     7.7 ถนนโรงสีบูรณะ เป็นการบริจาคที่ดินและจัดทำโดยคณะโรงสีไฟง่วนเชียงเส็ง จากการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น ยังผลให้บ้านห้วยขะยุงมีความเจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาครั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายเกียรติ เกียรติธนะกุล จึงได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับผู้นำที่สำคัญในครั้งนั้นคือ นายเกรียงศักดิ์ สงวนตระกูล และนายไทร พุ่มชุมพล ที่เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ลูกหลานและวงศ์ตระกูลสืบไปและได้ยกย่องชมเชยชุมชนห้วยขะยุงด้วยการยกป้ายประกาศแก่บุคคลไป “ว่าชุมชนตัวอย่างบ้านห้วยขะยุง” เป็นเกียรติประวัติสืบไป

​จากผลของความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วบ้านห้วยขะยุง กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นมีความหนาแน่นของประชากรมากขึ้น รัฐจึงได้ยกฐานะของบ้านห้วยขะยุง ซึ่งประกอบด้วย หมู่ที่ 9,10,15 ตำบลท่าลาด ให้เป็นเขตสุขาภิบาลตำบลห้วยขะยุง เมื่อปี พ.ศ. 2498 ตามระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่น มีคณะกรรมการสุขาภิบาลบริหารงานชุมชน ตามระเบียบของการปกครองส่วนท้องถิ่นและหลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ.2540 และก่อนหน้านั้น ประมาณปี พ.ศ.2534 รัฐได้ประกาศแยกพื้นที่ส่วนหนึ่งจากตำบลท่าลาดซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้าน บ้านท่าเมืองใหม่ บ้านห้วยขะยุง บ้านน้ำเที่ยงและบ้านโนนยาง ให้เป็นตำบลห้วยขะยุงและได้แบ่งเขตหมู่บ้านต่างๆเกิดเป็นหมู่บ้านใหม่ขึ้นมา ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 13 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยขะยุงใต้ ,หมู่ที่ 2 บ้านห้วยขะยุงตก    หมู่ที่ 3 บ้านอุดมเกษตร ,หมู่ที่ 4 บ้านน้ำเที่ยง ,หมู่ที่ 5 บ้านห้วยขะยุงออก ,หมู่ที่ 6 บ้านห้วยขะยุงเหนือ ,หมู่ที่ 7 บ้านโนนยาง   หมู่ที่ 8 บ้านน้ำคำ ,หมู่ที่ 9 บ้านท่าเมืองใหม่ ,หมู่ที่ 10 บ้านสนามชัย ,หมู่ที่ 11 บ้านคำเจริญ ,หมู่ที่ 12 บ้านไทรเจริญ และหมู่ที่ 13 บ้านเกษตรสมบูรณ์ ในจำนวน 13 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านห้วยขะยุงเดิม จำนวน 8 หมู่บ้าน อยู่ในเขตเทศบาลจำนวน 6 หมู่บ้าน ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 7 หมู่บ้าน

เมื่อปี พ.ศ.2510-2515 เริ่มมีถนนลูกรังระหว่างอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษถึงอำเภอวารินชำราบ และราดยางในปี พ.ศ.2514 จากคมนาคมทางบกได้รับความสะดวกสบายขึ้นพร้อมทั้งมีความเจริญทางเทคโนโลยีและนวัติผู้คนนิยมเดินทางติดต่อสื่อสารกันโดยรถยนต์ ซึ่งอำนวยความสะดวกได้ดีกว่ารถไฟ การเดินทางระหว่างอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านบ้านห้วยขะยุง ได้รับความสะดวกสบายมาก ใช้เวลาเพียงนิดเดียว การแลกเปลี่ยนละซื้อขายสินค้าจึงเปลี่ยนไปยังที่เจริญและสะดวกกว่าบรรดาพ่อค้าและประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านห้วยขะยุงเริ่มอพยพไปทำการค้าขายในตัวเมือง ซึ่งเป็นเขตชุมชนที่หนาแน่นกว่า ทำให้ศูนย์การค้าบ้านห้วยขะยุงเริ่มซบเซาลงและปิดตนเองไปเรื่อยๆ เหลือเพียงห้องแถวเก่าๆ 6-7 ร้าน ซึ่งกำลังจะปิดตนเองต่อไป ขณะเดียวก็มีการอพยพตนเองจากภายในหมู่บ้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางรถยนต์ทำให้ข้างๆถนน เกิดเป็นหมู่บ้านที่มีความหนาแน่นขึ้น ซึ่งได้แก่ส่วนที่เป็นบ้านห้วยขะยุงหมู่ที่ 5 และส่วนที่เป็นบ้านท่าเมืองใหม่หมู่ 9 บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเป็นศูนย์รวมของการเดินทางไปยังชุมชนอื่นๆ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงทั้ง 2 จังหวัด ประชาชนในพื้นที่นี้ จะประกอบอาชีพ การขายอาหาร ตั้งร้านจำหน่ายอาหาร ซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดโดยทั่วไป มีสถานบันเทิง ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้การเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ได้รับการพัฒนาเจริญขึ้นพร้อมกับการขยายและยกฐานะของส่วนราชการต่างๆ ให้ใหญ่โตขึ้นไปและยังเพิ่มส่วนราชการ มาประจำที่ตำบลห้วยขะยุงมากขึ้น ปัจจุบัน หมู่บ้านห้วยขะยุง สังกัดตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีสถานที่ราชการและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคมีความเพรียบพร้อมสมบูรณ์ เช่น โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา สถานีตำรวจ สถานีอนามัย สถานีรถไฟ ไปรษณีย์ ตลาดสด ปั้มน้ำมันขนาดใหญ่ สถาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ประชากรหนาแน่น ประกอบอาชีพหลักในทางการเกษตร เช่นเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทำนา และการเกษตรอื่นๆ ตลอดจนการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า มีสถานบริการอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัย การคมนาคม การพยาบาล ความรื่นเริง และความบันเทิงต่างๆ ทำให้สภาพเศรษฐกิจของบ้านห้วยขะยุง ซึ่งกำลังจะซบเซาลง ได้เจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ สถานที่แห่งใหม่และคาดว่าการพัฒนาการเจริญเติบโตของชุมชนแห่งนี้ จะกลายเป็นชุมชนเมืองที่สำคัญในอนาคต มีการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่วนราชการรวมทั้งผู้นำด้านต่างๆ จึงมีคำขวัญประจำตำบลที่ว่า “ถิ่นข่างาม น้ำมูลใส บั้งไฟล้าน ลานแตงโม”

เรียบเรียงโดย… นายสุเทพ ไชยชนะ
วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2565   View : 913